Garmin Fenix 3HR ปะทะ Samsung Gear S3 Frontier ตอนที่ 1
ใช้ Garmin Fenix 3HR มาก็ครบ 10 วันพอดี พอจะได้ข้อสรุปในมุมมองตัวเองถึงข้อดีข้อเสียของ Fenix 3HR เมื่อเทียบกับ Samsung Gear S3 Frontier เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังลังเลว่าจะเอารุ่นไหนดี ซึ่งนาฬิกาสำหรับบันทึกกิจกรรมการออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และการนอนหลับนั้น ส่วนใหญ่จะต้องมีโปรแกรมที่จะนำเอาข้อมูลจากนาฬิกามาวิเคราะห์เป็นกราฟให้เราดูง่ายๆ เราอาจจะต้องสมัครเป็นสมาชิกเพื่อการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ แล้วจะทำให้สามารถดูได้จากทั้งมือถือ หรือ web site
ในรูปด้านซ้ายเป็นโปรแกรมของ Samsung ชื่อ S Health ส่วนขวามือนั้นเป็นของ Garmin ชื่อโปรแกรม Garmin Connect ถ้าเราคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรม ก็สามารถดูการพัฒนาการในการออกกำลังกายของเราได้สำหรับผมนั้น Garmin Connect จะดูง่ายกว่า S Health แต่เรื่องของการเก็บข้อมูลบันทึกเพิ่มเติมนั้น S Health จะจัดมาเต็มกว่า
ในเรื่องการบันทึกการนอนหลับนั้น ถ้าดูกราฟของ S Health (ด้านซ้าย) นั้นจะดูขัดๆ เพราะจะมีช่วงแหว่งๆไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่ผมตื่นไปเข้าห้องน้ำ แล้ว S Heath อาจตั้งการคำนวณไว้ว่าถ้ามือยังขยับอยู่ก็จะยังไม่บันทึกว่าได้หลับต่อ (ซ้ำยังบอกว่าเราออกกำลังกายอีก) ในขณะที่ของ Garmin เมื่อดูกราฟแล้วจะให้ความรู้สึกดีกว่า เพราะเป็นกราฟเส้นสีม่วงแค่ช่วงสั้นๆที่เราตื่นมา ซึ่งสอดคล้องความรู้สึกจริงๆมากกว่า S Health
มาดูกันต่อเรื่องการบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจตลอดทั้งวัน ซึ่งทั้ง Gear3 และ Fenix3 ก็เก็บข้อมูลได้ดี แต่การแสดงผลนั้น Garmin ก็ยังทำออกมาได้ดีกว่า เข้าใจว่า S Health นั้นจะเน้นเรื่องการแสดงผลค่าเฉลี่ยของอัตราการเต้นของหัวใจ แบบแยกกิจกรรมได้ กราฟก็เลยออกมาแบบสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย ในขณะที่ของ Garmin นั้นจะแสดงค่าเฉลี่ยนแค่แบบตอนนั่งเฉยๆ กับช่วงที่ออกกำลังกายแล้วชีพจรเต้นเร็ว แต่เราสามารถเข้าไปดูบันทึกทั้งวันเป็นกราฟแบบเทพๆ (รูปด้านขวาสุด) ซึ่งได้อารมณ์การดูกราฟมากกว่า แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ครับ
เรื่องแบตเตอรี่นั้น Garmin Fenix 3HR สามารถใช้งานได้แบบชาร์จหนึ่งครั้ง แล้วใช้ร่วมกับการออกกำลังกายแบบในร่มได้ถึง 1 สัปดาห์ เพราะอัตราการลดลงของแบตประมาณ 10% ต่อวัน ในขณะที่ Samsung Gear S3 นั้น ที่ทดสอบมา จะลดลงประมาณ 25-35% ต่อวัน ทำให้เอาเข้าจริงๆควรชาร์จทุก 2 วัน ทั้งนี้ผมยังไม่ได้ลองการใช้งานแบบใช้ GPS ของทั้งสองรุ่นอย่างจริงๆนะครับว่าจะดูดพลังงานไปเท่าไหร่ (ครั้งที่แล้วลอง Gear3 แล้วไม่ครบลูป) ในรูปนั้นต้องการให้เห็นว่า 17% หลังจากที่ใช้ Fenix มา 8 วันเต็มๆครับ
สำหรับหน้าจอแสดงผลนั้น ต้องยกนิ้วให้ Gear3 เลยละครับ เพราะว่าดูสดสวย สดใสกว่า Fenix3 มาก แต่นั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ Fenix3 สามารถใช้งานได้นานกว่าต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หน้าจอ Fenix จะเป็นเหมือนแบบ Pebble คือ E-ink ที่ประหยัดพลังงาน ส่วนของ Gear3 นั้นจัดเต็มแบบ OLED จึงกินพลังงานมากกว่า
เรื่องการใช้งานนั้น Gear3 มาแบบสะดวก มีปุ่มน้อยแค่สองปุ่มคือขวาบนเป็นการย้อนกลับ กับขวาล่างเป็นการเข้าสู่เมนูต่างๆหรือเทียบเท่าปุ่ม enter แต่ทั้งนี้ขอบหน้าปัด Gear3 สามารถหมุนซ้ายขวาเพื่อใช้เลือกเมนูได้ และหน้าจอก็ยังเป็นแบบสัมผัส (ซึ่งจะมีข้อดีสำหรับการใช้งานในมุมอื่นๆ) ในขณะที่ Fenix นั้น หน้าจอไม่ใช้แบบสัมผัส มีปุ่มใช้งานถึง 5 ปุ่ม ปุ่มซ้ายบนสำหรับเปิดเปิดแสงสว่างหน้าจอเพื่อใช้ดูข้อมูลในเวลากลางคืน ปุ่มซ้ายกลางกับล่างเป็นปุ่มสำหรับการเลือก เทียบเท่ากับการหมุนขอบหน้าปัดของ Gear3 ส่วนปุ่มทางด้านขวาของ Fenix 3HR นั้นเหมือนกับ Gear3 แต่สลับตำแหน่งการใช้งานกัน ทำให้เวลาที่ผมเปลี่ยนมาทดสอบใหม่ก็ยังมึนๆกับปุ่ม ซึ่งความสำดวกในการเข้าถึงเมนูของ Gear3 นั้นดีกว่าแน่นอนครับ
ในระหว่างนั่งเขียนบทสรุปการใช้งานของ Gear 3 และ Fenix 3HR นั้น ก็ลองศึกษาการใช้งานฟังก์ชั่นกอล์ฟไว้ เพื่อในโอกาสหน้าจะเอาไปทดสอบการเทียบกัน ทั้งในด้านความแม่นยำของ GPS และความอึดของแบตเตอรี่ ว่าในสนามกอล์ฟ และสนามปั่น Sky Lane จะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ไว้พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ