สุดสายอันดามันที่….กันตัง
การคมนาคมทางรถไฟถือว่าเป็นการเดินทางที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยถือกำเนิดขึ้นในปี พศ 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จวบจนปัจจุบันเรามีเส้นทางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศทั้งสิ้น 4346 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-กันตัง
ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เส้นทางหนึ่งของรถไฟไทย สถานีรถไฟกันตังเปิดใช้ครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2456 โดยสร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา มีสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนตัวอาคารและชานชาลาด้านหน้าของอาคารมีมุขยื่น
สถานีรถไฟกันตังถือว่าเป็นสถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามในประเทศไทย และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดตรังจากกรมศิลปากรตั้งแต่ปี 2539 ภายในสถานียังมีห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับกิจการรถไฟในสมัยก่อนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ในอดีตเส้นทางรถไฟสายกันตังไปสุดสายที่ท่าเทียบเรือกันตัง ท่าเรือเก่าแก่ที่ใช้รับส่งสินค้ากับต่างประเทศทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และหัวจักรรถไฟในสมัยก่อนที่ผลิตขึ้นจากประเทศ อเมริกา อังกฤษและอินเดีย ก็ใช้วิธีการขนส่งโดยผ่านทางท่าเรือกันตังและลงรางเพื่อเดินทางต่อมายังกรุงเทพ จวบจนทางการรถไฟเริ่มหันไปสั่งหัวรถจักรจากทางญี่ปุ่นก็เลยทำให้เส้นทางรถไฟสายอันดามันถูกทิ้งร้างและปัจจุบันทางรถไฟส่วนที่เชื่อมต่อไปยังท่าเรือกันตังอีก 500 เมตร ได้ถูกชาวบ้านรุกล้ำพื้นที่จนรางรถไฟไม่สามารถพบเจอได้แล้วครับ
ปัจจุบันการรถไฟได้บูรณะสถานีรถไฟกันตังเพื่อเปิดบริการเดินรถทั้งสำหรับรับส่งสินค้าและผูู้โดยสาร อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว ใครแวะไปผ่านมาก็อย่าลืมมาเยี่ยมชมสถานีรถไฟกันตังกันครับ